เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

การใช้เทคโนโลยีในการนำพาการศึกษาเข้าสู่การเป็นสากล

ความรับผิดชอบและความชาญฉลาดของผู้นำหรือผู้บริหารอย่างหนึ่งคือ “การตัดสินใจ” โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีซึ่งอาจเป็นทั้งในรูปของเทคนิควิธีการ และเทคโนโลยีในรูปของ Hardware และ Software ต่าง ๆ เพราะการตัดสินใจย่อมมีผลกระทบ (Impacts) เกิดขึ้นเสมอทั้งทางที่เป็นคุณประโยชน์ตามจุดประสงค์ และในทางที่เกิดโทษทั้งที่อาจทราบได้ล่วงหน้าและไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า

การใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางสำคัญในการนำพาการศึกษาของประเทศเข้าสู่การเป็นสากล และเข้าสู่ประชาคมอาเชียนตามความคาดหวังของรัฐบาลและของสังคม การพัฒนาและใช้งบประมาณในการพัฒนาประเทศอาจเกิดจากการเลือกใช้นโยบายสำหรับการพัฒนา ถ้าองค์ประกอบสำคัญที่เป็นทั้งปัจจัยต่าง ๆ ของการพัฒนาประเทศมีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น องค์ประกอบด้านการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ หลายท่านอาจจะมีคำถามที่หาคำตอบได้ยากว่า ควรพัฒนาอะไรก่อน และอะไรเป็นปัจจัยสาเหตุ และอะไรเป็นปัจจัยที่เป็นผล ดังประเด็นปัญหาพื้นฐานดังนี้

1. ควรพัฒนาเศรษฐกิจก่อน เมื่อเศรษฐกิจดีแล้วจะทำให้สังคมและการศึกษาดีตามมา

2. ควรพัฒนาสังคม ซึ่งได้แก่การเมืองและการปกครองให้ดีเสียก่อน จะทำให้เศรษฐกิจและการศึกษาดีตามมา

3. ควรพัฒนาการศึกษาให้คนมีการศึกษา มีความรู้หรือฉลาดก่อน จะทำให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ดี

อย่างไรก็ตามประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ ได้รับการศึกษา วิเคราะห์ อย่างละเอียดอย่างลึกซึ้งมาแล้ว การแยกคิด และแยกส่วน (Atomistic) เพื่อหาคำตอบในแต่ละประเด็นคงไม่อาจได้คำตอบที่เหมาะสม เพราะองค์ประกอบหรือปัจจัยต่าง ๆ สำหรับการพัฒนามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จึงต้องคิดแบบองค์รวม หรือ แบบ Holistic สำหรับการเลือกพัฒนาทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน

การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เหมาะสมเป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร หรือองค์คณะที่รับผิดชอบที่ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 ประการดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน ได้แก่ องค์ประกอบด้านการศึกษา องค์ประกอบด้านสังคม และองค์ประกอบด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ในองค์ประกอบแต่ละด้านจะมีผลกระทบ (Impacts) และทางเลือกการตัดสินใจ (Decision Alternative) เพื่อการพิจารณาดังนี้

องค์ประกอบด้านการศึกษา

การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้นมีประเด็นที่นำมาใช้เป็นฐานของนโยบายในการพัฒนาการศึกษา ผลกระทบและการตัดสินใจดังนี้

1. ความเสมอภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตัวอย่างการใช้แนวคิดนี้เป็นฐานของนโยบายได้แก่ โรงเรียนในฝัน หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียน อินเทอร์เน็ตทุกโรงเรียน และการแจกคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส หรือ Tablets ให้กับนักเรียนเป็นต้น สำหรับผลกระทบ ที่เกิดขึ้น (Impacts) ได้แก่ ผู้ด้อยโอกาสการเข้าถึงมีมากและจะถูกทอดทิ้ง ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น

2. ระบบและกระบวนการควบคุมการตรวจจับสารสนเทศจาก Cyberspace ที่มีการนำเสนอสาระที่ล่อแหลม การใช้มาตรการทางกฎหมายกับนักเรียนหรือเยาวชน ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กหรือผู้เยาว์อาจมีการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และอาจทำความผิดและถูกลงโทษโดยไม่ตั้งใจทำผิด

3. ผลพวงจากการรับรู้สารสนเทศอย่างทันท่วงที ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้เรียนตื่นตกใจกับสารสนเทศโดยไม่มีการคิด ไตร่ตรอง มีการใช้ช่องทางของการสื่อสารในสังคมออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ความคิดและการปลุกระดมได้ง่าย

4. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ นำมาสู่ผลกระทบที่อาจมีการทำผิดกฎหมายได้โดยไม่ตั้งใจ

5. การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการนำเสนอและจำลองสถานการณ์นั้นไม่อาจทำได้ทุกเรื่อง และการจำลองสถานการณ์ถ้าไม่มีการตรวจสอบที่ดีอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอาจทำให้ผู้เรียนเชื่อถือสารสนเทศที่ได้รับโดยขาดการลงมือทดลองปฏิบัติ เกิดมีความเข้าใจผิดอย่างมั่นใจว่าถูกต้องเพราะการนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์ นั้นเป็นการจัดกระทำด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ

6. การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเปิดโอกาสให้มีการจัดการเรียนการสอนทางไกลที่ ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ห่างกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้เรียนจะไม่ได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมักเกิดจากการเลียนแบบและจดจำจากผู้สอนซึ่งจะมีอยู่ได้ในการเรียนการสอน ที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องมีความใกล้ชิดกันเท่านั้น นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางให้สถานศึกษามีการจัดการศึกษานอกที่ตั้งจำนวนมาก อาจส่งผลต่อไปถึงการซื้อ-ขายปริญญา และคุณภาพการศึกษา

การตัดสินใจ

1. ต้องตัดสินใจดำเนินการให้มีนโยบายระดับชาติในการเปิดโอกาสของความเท่าเทียมกันในการใช้เทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูล

2. ส่งเสริมให้ครูและผู้ปกครองช่วยกันวางมาตรการป้องกัน การเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน

3. ให้มีการร่วมมือกันทั้งผู้เรียนและผู้สอนในการกลั่นกรองสารสนเทศที่ได้รับ

4. มีการให้ความรู้และเผยแพร่ข้อกฎหมายให้ทราบตลอดเวลา

5. จัดกิจกรรมส่งเสริม ท้าทายให้ผู้เรียนทดลองลงมือปฏิบัติมากกว่าการยึดถือและพึ่งแต่เทคโนโลยี และการใช้องค์ความรู้แบบบอกกล่าวจากตัวอักษรเป็นสำคัญ

6. ต้องจัดให้สารสนเทศที่เป็นจริงและมีประโยชน์กับผู้เรียนทางไกลมากขึ้น ให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้และประสบความสำเร็จในการเรียนได้ จัดระบบการตรวจสอบและติดตามการจัดการศึกษานอกที่ตั้งและหลักสูตรการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอนให้เข้มงวดมากขึ้น

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

 

องค์ประกอบด้านสังคม

การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้นมีประเด็นด้านสังคมที่นำมาใช้เป็นฐานของนโยบายในการพัฒนาการศึกษา โดยมีผลกระทบและการตัดสินใจดังนี้

1. เทคโนโลยีแสดงถึงความก้าวหน้า ประชาชนพอใจกับรัฐบาลที่นำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหา ผู้ปกครองและผู้เรียนพอใจกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถาบันการศึกษาจำนวนมาก ๆ สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลจากการประกวดต่าง ๆ จะเป็นสถานศึกษาที่มีเทคโนโลยีมาใช้จำนวนมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ การทำให้เชื่อว่าเทคโนโลยีมีส่วนดีมากกว่าผลเสีย และชื่นชมกับเทคโนโลยีอาจกลายเป็นผู้เสพติดเทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัว

2. เทคโนโลยีคุกคามวิถีชีวิตของคนในสังคม ผลกระทบกับสังคมเกี่ยวข้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยีสร้างผลให้เกิดความอึดอัดใจของผู้คนในสังคม ระบบการดำเนินชีวิต การทำงานและความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีเกิดขัดข้อง ระบบต่าง ๆ ทางสังคมก็จะติดขัดไปด้วย นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไม่ได้เมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน เบิกเงินสดจากธนาคารไม่ได้ และต่อทะเบียนรถยนต์ไม่ได้เช่นกัน

3. ทำให้คนในสังคมต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขาดความเป็นอิสระในการคิด ไม่นิยมใช้สมองในการจดจำ และเอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี ผลกระทบโดยตรงคือทำให้ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา แม้แต่การคิด การระลึกได้ การคำนวณอย่างง่าย อาจนำมาสู่ความสูญเสียและการทำลายของทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากเกินความจำเป็น

4. การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีความไว้วางใจ เกรงว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เกิดความหวาดกลัวแม้แต่จะระบุเลขประจำตัวบัตรประชาชนในการทำนิติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งนำเลขบัตรประจำตัวไปใช้เลขประจำตัวร่วมกับบัตรประจำตัวนักเรียน นักศึกษา

5. อิทธิพลด้านการเมืองและเศรษฐกิจของเทคโนโลยีเองสามารถนำผลกระทบเกิดแก่สังคม ทำให้สังคมตกเป็นเบี้ยล่างของเทคโนโลยีที่จะมาควบคุมทั้งระบบการเมือง และเศรษฐกิจ นโยบายบัตรประจำตัวเด็ก บัตรประจำตัวแบบอัจฉริยะ (Smart Cards) เช่น การหักเงินค่าลงทะเบียนผ่านธนาคารจากบัตรนักศึกษา เป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดผลกระทบทางความรู้สึกว่าเป็นอิทธิพลของการเมือง และเศรษฐกิจของเทคโนโลยี ถึงแม้อาจจะเกินจริง เพราะประชาชนหรือนักศึกษาขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องก็ตาม

การตัดสินใจ

1. ควรตัดสินใจส่งเสริมให้การศึกษาแก่ผู้เรียนถึงผลของการใช้เทคโนโลยีทางทางบวกและลบ

2. ร่วมมือกับชุมชนในการวางกรอบการใช้เทคโนโลยีให้พอดีไม่มากไป หรือน้อยไป

3. สร้างยุทธวิธีของการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี

4. ให้ความมั่นใจกับผู้ใช้เทคโนโลยีในด้านของการเข้าถึงข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูล

5. มีการควบคุมในระดับที่เหมาะสมทั้งจากรัฐบาลและสถานศึกษา

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้นมีประเด็นด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่นำมาใช้เป็นฐานของนโยบายในการพัฒนาการศึกษา ผลกระทบและการตัดสินใจดังนี้

1. การทำให้เทคโนโลยีราคาถูกลง ส่งเสริมให้มีการผลิตและนำเข้าจำนวนมาก ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้ เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ผลกระทบคือ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถมี และไม่สามารถมีเทคโนโลยีให้กว้างขึ้น เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างคนในสังคมในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก มีงบประมาณน้อย ไม่อาจใช้เทคโนโลยีคุณภาพดีราคาแพง องค์ความรู้บางอย่างไม่สามารถเข้าถึงได้

2. การสร้างความเสมอภาคและมีส่วนในการใช้เทคโนโลยีของเพศชาย และหญิง ผลกระทบบางประการที่ยังคงเป็นอยู่คือ เพศหญิงจะถูกกีดกันออกไปจากการทำงานที่ใช้เทคโนโลยี

3. การส่งเสริมประเด็นเรื่องความรักชาติ และภูมิลำเนาท้องถิ่น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ การกีดกันในเชื้อชาติ และภูมิลำเนาท้องถิ่น ที่มีต่อความเชื่อถือการใช้เทคโนโลยี เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่สากล และประชาคมอาเชียน

4. การออกแบบเผยแพร่เนื้อหาที่อ่อนไหวกับความรู้สึกด้านวัฒนธรรม หรือความเชื่อ ผลกระทบคือ ผู้เรียนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อจะไม่นิยมเรียนรายวิชาที่ ต้องใช้เทคโนโลยีในการเรียนมาก

การตัดสินใจ

1. ต้องตัดสินใจเลือกใช้กระบวนสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่า เทคโนโลยีจะมีไว้ให้ทุกคนได้ใช้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าเป็นสถาบันการศึกษา ในสถานศึกษาแต่ละแห่งนักเรียนทุกชั้น ทุกระดับ ทุกสาขาวิชาควรมีโอกาสในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด

2. สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องร่วมมือกันสร้างคนและสร้างงานให้ทั้งเพศชาย และหญิงมีโอกาสเท่าเทียมกันในการได้รับการจ้างงาน สำหรับประเทศไทยภาครัฐเป็นตัวอย่างของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศได้อย่างดี กว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้

3. ต้องมีการออกแบบโปรแกรม หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่มั่นใจว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ สำหรับการเรียนการสอนของทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา และทุกสาขาวิชาตามความเหมาะสม

4. ส่งเสริมให้มีการออกแบบการสอน และเนื้อหารายวิชาที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและวัฒนธรรมของผู้เรียนใน ลักษณะ Web-based Courses มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนที่ได้รับการยอมรับ มากขึ้นในปัจจุบัน

สรุปคือการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นภารกิจ และความรับผิดชอบของผู้นำและผู้บริหารการ ศึกษาระดับสูง ซึ่งอาจเป็นทั้งปัจเจกบุคคล หรือรายบุคคล และในรูปของคณะกรรมการเพื่อการตัดสินใจ แต่อย่างไรก็ตาม การนำเสนอผลกระทบและทางเลือกในการตัดสินในบทความนี้ อาจช่วยให้เกิดความตระหนักในประเด็นที่อาจหลงลืม หรือถูกมองข้ามไป เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเลือกนำเทคโนโลยีมาใช้ และการใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางที่เหมาะสมอย่างหนึ่งของการนำการศึกษาไทยเข้าสู่การเป็นสากล หรือเข้าสู่ประชาคมอาเชียนตามแรงผลักดันของสังคมและนโยบายของรัฐบาล

การตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งในรูปของเทคนิควิธีการ หรือการใช้ Hardware และ Software อาจนำมาสู่ผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาได้เสมอ แต่ถ้าผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจยอมรับผลกระทบเชิงลบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การสร้างความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดการยอมรับการตัดสินใจและผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นนั้นมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับยุคสมัยนี้ นอกจากนั้นกระบวนการช่วยเหลือหรือแก้ไขผลกระทบเชิงลบจึงควรนำมาพิจารณา ควบคู่ไปกับการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ด้วย

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ debbieconacher.com

Releated